
เม ื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา สภาลมหายใจเชียงใหม่ได้เข้าหารือกับนายศิวกร บัวป้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 2568 เพื่อหารือสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันในเชียงใหม่และเตรียมรับมือกับฤดูฝุ่นควันที่กำลังจะมาถึง
.
สภาลมฯ ได้อัพเดทสถานการณ์การแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันของจ.เชียงใหม่ปีที่ผ่านมาว่าการเผาในพื้นที่เกษตรมีน้อย แต่เป็นการเผาในป่าอนุรักษ์และป่าสงวนมีมากถึง 93% โดยเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 50% และป่าสงวน 43% ทั้งนี้ การใช้แอปพลิเคชันเพื่อบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ Fire D” เพื่อจัดการเชื้อเพลิงโดยการยอมรับ “ไฟจำเป็น” เพื่อเป็นการควบคุมเชื้อเพลิง โดยการใช้ไฟดังกล่าวจะต้องมีการควบคุมการใช้
.
อย่างไรก็ตามจากสถิติปี 2567 ยังมีตัวเลขการบริหารเชื้อเพลิงเพียงแค่ 3 % เพื่อที่จะปกป้องป่าถึง 97 % ซึ่งสะท้อนว่าการอนุมัติให้ใช้ไฟจำเป็นเพื่อควบคุมเชื้อเพลิงยังเกิดขึ้นน้อยมาก ปี 2568 Fire D ยังไม่มีการอนุมัติจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้เองก็เกรงว่าจะเป็นการสะสมเชื้อเพลิงมากขึ้น เมื่อถึงฤดูไฟก็จะเป็นปัญหาที่ยากต่อการควบคุมไฟ ดังนั้นเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องแก้ไขปัญหาติดขัดโดยเร็ว และหัวใจสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันคือการถ่ายโอนภารกิจไปสู่ท้องถิ่น ที่จะต้องม ีการเสริมศักยภาพทั้งงบประมาณ และการดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้น เช่น ควรมีข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ชัดเจน เช่น งบประมาณ ชุดดับไฟป่าที่ชัดเจนด้วย
.
สภาลมฯ ยังได้อัพเดทการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนว่า ที่ผ่านมามีศิลปินมาช่วยระดมทุน และจัดนิทรรศการสู้ฝุ่น มีการทำศูนย์ประชาสัมพันธ์ (Joint Information Center : JIC) การบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่ต้องการเผยแพร่ผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชนผ่านสื่อมวลชน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีการใช้กลไกภาคธุรกิจ เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม (CSE) เข้ามาสร้างแรงจูงใจสนับสนุนชุมชนลดไฟ โดยเสนอให้บริจาคผ่านทาง เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม (CSE) ที่สามารถลดหย่อยภาษีได้
.
นอกจากนี้ยังแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยส่งเสริมให้มีการประชาคมในชุมชน เพื่อให้มีแผนและกติกาควบคุมการเผา ให้เกิดการสื่อสารในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ให้ทำเรื่องไปยัง อปท.-ท้องที่ เพื่อเน้นย้ำการห้ามเผาโดยพลการ เป็นการควบคุมและสร้างความเข้าใจให้กับคนในท้องที่ การให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ต้องการจัดการชีวมวลในพื้นที่เกษตร (ไม่เผา เราช่วย) สนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนการเกษตรที่ไม่ใช้ไฟ แก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบ Fire D ของชาวบ้าน โดยให้ผู้นำชุมชนช่วย เน้นการสื่อสารที่ชัดเจนและถูกต้องไปยังประชาชน เพื่อลดความเข้าใจผิด เปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้โปร่งใส ให้รางวัลและแรงจูงใจแก่ชุมชนที่สามารถควบคุมไฟป่าได้ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา