แก้ที่ต้นตอ ย้อนมองทั่วโลกแก้ปัญหาคนจมฝุ่นกันยังไง?
เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

พื้นที่ภาคเหนือของไทยนั้นต้องเผชิญปัญหามลพิษจากฝุ่นควัน PM2.5 ที่เรื้อรังมานานหลายทศวรรษ ในช่วงหน้าร้อนของทุกปีค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือยังคงพุ่งทะยานติดอันดับโลกอยู่ในระดับเกินค่ามาตรฐาน และมีผลกระทบต่อสุขภาพมากทุกจังหวัดในภาคเหนือ ข้อมูลจาก HDCservice กระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 2 เมษายน 2024 (พ.ศ.2567) พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจทั่วประเทศจำนวน 2,546,362 คน จากการสำรวจประชากรทั้งหมด 45,432,188 คน
ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือมีผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจจำนวน 511,315 คน
ซึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษในแต่ละปีที่ออกมานั้นเหมือนการเกาไม่ถูกที่ มาตรการที่ออกมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน รวมไปถึงการมองไม่เห็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ดูเหมือนที่จะหลบเลี่ยงที่ไม่พูดถึงต้นสายปลายเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจัง อย่างกรณีที่ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีการขอยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาคดีฟ้องฝุ่นของประชาชนภาคเหนือ ไปในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2024 (พ.ศ.2567) หลังศาลปกครองปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้นายกฯ และคกก.สิ่งแวดล้อมฯ เร่งจัดทำแผนฉุกเฉินแก้ไขวิกฤตมลพิษฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ นี่อาจตีความได้ว่ารัฐบาลไม่มีวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างแท้จริงราวกับว่าฝุ่นพิษนี้จะปลิวหายไปกับสายลมหลังฤดูแล้งหมดไปเฉกเช่นทุกปีวนเวียนไปแบบนั้น
วิกฤตฝุ่น PM2.5 นั้นไม่ได้เกิดเพียงแค่พื้นที่ภาคเหนือของไทยเท่านั้น ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 เฉกเช่นเดียวกัน แต่นโยบายหรือมาตรการที่ออกมาแก้ไขปัญหาฝุ่นควันนั้นเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ ทำให้อากาศในหลาย ๆ ประเทศทยอยดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่มาตรการที่ออกมาแก้ไขนั้นไม่เพียงแต่ต้องการแก้ไขแค่ฝุ่น PM2.5 แต่ยังครอบคลุมไปถึงมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ประเทศจีน
จีนประสบปัญหาฝุ่นพิษมาหลายทศวรรษ ตั้งแต่ยุคการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดภายใต้การนำของ เหมา เจ๋อตง ตั้งแต่ปี 1945-1976 ส่งต่อมายัง เติ้ง เสี่ยวผิง ในยุคการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนช่วงปี 1981-1987 ภายใต้นโยบาย “สี่ทันสมัย” (Four Modenization) ที่เน้นการปฏิรูป 4 ด้าน ได้แก่ การเกษตร การอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ รวมไปถึงในช่วง 20 ปีให้หลัง จีนเป็นผู้ผลิตรถยนต์รวมเป็นถึงผู้บริโภครายใหญ่ของโลกทำให้มีการบริโภคน้ำมันสูงขึ้นตามมา นอกจากนี้มีปริมาณการใช้ถ่านหินในระดับที่สูงมากโดยเฉพาะฤดูร้อน ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนก้าวกระโดดเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่มีแผนในการรองรับด้านมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ฝุ่นควันในเมืองปักกิ่ง ปี 2015 (ภาพ: CNN)
ด้วยปัญหาทางด้านมลพิษที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน ในปี 2014 นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้ประกาศ “สงครามต่อต้านมลพิษ” โดยมีแผนปฏิบัติการคุณภาพอากาศแห่งชาติเพื่อลด PM10 ลงร้อยละ 10 ภายใน 5 ปี มีการจัดสรรงบประมาณกว่า 270,000 ล้านดอลลาร์ ในพื้นที่ที่มีมลพิษมากที่สุดในจีน ได้แก่ ปักกิ่ง–เทียนจิน–เหอเป่ย สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ในปีเดียวกันมีการเผยแพร่ ร่างการแก้ไขกฎหมายป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศแห่งชาติ (National Air Pollution Prevention and Control Law) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1987 มีการยกประเด็นฝุ่นควันให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการยกบทบาทของรัฐบาลท้องถิ่นในการประเมินการปฏิบัติงานและเผยแพร่ผลการวิจัยสู่สาธารณะ มีการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ มีมาตรการแก้มลพิษจากถ่านหินยานยนต์ อุตสาหกรรม และฝุ่นละออง โดยร่างดังกล่าวผ่านพิจารณาและถูกประกาศใช้ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2014

China’s State Council (ภาพ: China Daily)
โดยเมื่อปลายปี 2023 China’s State Council ได้เผยแพร่แผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ แผนดังกล่าวมีมาตรการเพื่อทำให้ท้องฟ้าในจีนกลับมาสีฟ้าภายในปี 2025 เช่น ผลักดันในด้านอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างพลังงานสะอาดมากขึ้น ลดการใช้ฟอสซิลลงร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งให้มีการผลิตคาร์บอนต่ำมากขึ้นและผลักดันให้ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น มีเป้าหมายเพื่อลดความหนาแน่นของ PM2.5 ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 สูง ลง 10 เปอร์เซ็นภายในปี 2025 และขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม
สหราชอาณาจักร
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5-9 ธันวาคม 1952 กรุงลอนดอนเมืองหลวงของสหราชอาณาจักร ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันหนาทึบไปทั่วเมือง สาเหตุของควันพิษนี้เกิดจาก โรงงานถ่านหินในลอนดอนและเมืองใกล้เคียง รวมไปถึงการใช้ถ่านหินในครัวเรือนของประชาชนทั่วไป ปล่อยมลพิษทางอากาศที่ประกอบไปด้วยก๊าซอันตรายอย่างเช่น กรดไฮโดรคลอริกและซับเฟอร์ไดออกไซด์ เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนมากนัก เนื่องจาก ณ ช่วงเวลานั้นเป็นฤดูหนาวทำให้ประชาชนคิดว่าหมอกควันที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นหมอกธรรมชาติ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็คิดว่ามันเป็นแค่หมอกทั่วไป ทำให้ไม่ได้มีมาตรการออกมาแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ภาพ: American Lung Association
แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่วัน ประชาชนกว่า 12,000 คนเสียชีวิต และป่วยจากระบบทางเดินหายใจกว่า 100,000 คน ซึ่งรู้จักกันในนาม “The Great Smog of London 1952” ถือว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ทางมลพิษทางอากาศที่คร่าชีวิตประชาชนไปมากที่สุดในสหราชอาณาจักร ทำให้หลังจากนั้นรัฐบาลได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการเพื่อแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว มีการสนับสนุนเงินทุน เจ้าหน้าที่ และเครื่องมือแก่โรงพยาบาล รวมไปถึงยุติการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดการเรื่องนี้ ผลของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้อีก 5 ปีให้หลัง ในวันที่ 5 กรกฎาคม 1956 รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายจัดการมลพิษทางอากาศ (Clean Air Act 1956) ฉบับแรก ขึ้นมา

วินสตัน เชอร์ชิล (ภาพ: ซีรีย์ The Crown)
Clean Air Act 1956 เป็นจุดเริ่มต้นในการลดปัญหามลพิษในสหราชอาณาจักร ซึ่งในปี 1968 มีการปฏิรูป Clean Air Act ครั้งแรกเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหามลพิษของสหราชอาณาจักรที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการเพิ่มโทษแก่ภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันจากปล่องควันสูงที่เกิดจากการเผาไหม้อย่างไม่เหมาะสม พร้อมทั้งควบคุมมาตรฐานการติดตั้งปล่องควัน
และในปี 1993 รัฐบาลอังกฤษก็ได้มีการตรา Clean Air Act 1993 ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่พัฒนาขึ้น อาทิ การนิยามความหมายของควันดำ ให้ครอบคลุมปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทั้งจากการปล่อยควันดำอันเป็นมลพิษทางอากาศจากปล่องควันสูงของภาคอุตสาหกรรมและเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ของรถยนต์ การกำหนดเกณฑ์ของการวางพื้นที่ควบคุมหมอกควัน (SCAs) การกำหนดประเภทของมลพิษทางอากาศประเภทใหม่ ๆ เอาไว้ในกฎหมาย และการกำหนดให้ภาครัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ แจ้งข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อประชาชน รวมไปถึงสิทธิพื้นฐานในการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ
สหรัฐอเมริกา
ในอดีตสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันที่ส่งผลให้ประชาชนกว่า 1 ใน 3 ของ เมืองโดโนรา รัฐเพนซิลวาเนีย ต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ย้อนกลับไปในวันที่ 27 ธันวาคม 1948 ท้องฟ้าของเมืองโดโนรา รัฐเพนซิลวาเนีย ได้เกิดเหตุการควันพิษปกคลุมไปทั่วเมือง เกิดจากสารคาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นพิษโลหะ จากกระบวนการผลิตของโรงงานสังกะสีและเหล็ก หรือที่รู้จักในเหตุการณ์ The Donora Smog เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ประชาชนในเมืองเสียชีวิตกว่า 20-50 คน และป่วยจากโรคทางเดินหายใจกว่า 7,000 คน ซึ่งถูกบันทึกไว้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา

เมืองโดโนรา (ภาพ: AccuWeather)